ถั่วเขียวพืชเศรษฐกิจของชาววังโป่งเพชรบูรณ์

            ถั่วเขียว เป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ อีกทั้งยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย จึงไม่มีปัญหาในช่วงฤดูแล้ง ในอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์จึงนิยมปลูกถั่วเขียวกันมาก นับเป็นพืชหลักก็ว่าได้ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ แต่ยังเป็นการพัฒนาชุมชนทางด้านการเกษตรที่ยั่งยืนอีกด้วย บีมทัวร์เกษตร beemtourkaset” จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับกระบวนการปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวของชาวเกษตรกรในพื้นที่อำเภอวังโป่งกันค่ะ

            การปลูกถั่วเขียวในอำเภอวังโป่งมักจะเริ่มปลูกกันในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เนื่องจากอากาศในช่วงนี้มีความชื้นที่เพียงพอ และมีฝนตกสม่ำเสมอ จะทำให้ถั่วเขียวเจริญเติบโตได้ดี การปลูกถั่วเขียวจะเริ่มจากการเตรียมดิน โดยไถดินให้ลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร เพื่อกำจัดวัชพืช และเศษซากพืชที่เหลือจากการปลูกครั้งก่อน จากนั้นพรวนดินให้ร่วนซุย และตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อลดความเป็นกรดและทำลายเชื้อโรคในดิน

ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 1-2 ตันต่อไร่ เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืช เมล็ดถั่วเขียวไม่จำเป็นต้องเพาะกล้า แต่สามารถหว่านลงแปลงปลูกได้โดยตรง ระยะห่างระหว่างแถวควรอยู่ที่ 50 เซนติเมตร และระยะห่างระหว่างต้นในแถวควรอยู่ประมาณ 10-15 เซนติเมตร หยอดเมล็ดถั่วเขียวลงไปในหลุมลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วกลบด้วยดินบาง ๆ หลังการหยอดเมล็ด ควรให้น้ำทันทีเพื่อกระตุ้นการงอกของเมล็ด และควรรักษาความชุ่มชื้นในดินให้สม่ำเสมอในช่วง 7-10 วันแรกหลังปลูก

ในระหว่างการเจริญเติบโตของถั่วเขียว เกษตรกรจะต้องคอยดูแลและตรวจสอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาสำคัญที่อาจพบในช่วงนี้คือ ศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟ และแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ หากเจอกับปัญหาดังกล่าว เกษตรกรจะอาจใช้วิธีการฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ หรือสารอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่เกิดความเสียหายต่อถั่วเขียว

ถั่วเขียวเป็นพืชที่ต้องการน้ำเพียงเล็กน้อย แต่ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงออกดอก และระหว่างการติดฝักควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำ หากให้น้ำมากเกินไปเนื่องจากจะทำให้เกิดโรครากเน่า ถั่วเขียวเป็นพืชที่ใช้ระยะเวลาในการเติบโตประมาณ 70-90 วัน เมื่อถึงเวลาที่ถั่วเขียวเริ่มแก่เต็มที่ ฝักจะเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเกษตรกรสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้ โดยวิธีการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวในพื้นที่วังโป่งมักใช้วิธีการเกี่ยวด้วยมือ โดยการเก็บฝักที่แก่แล้วนำมาผึ่งแดดให้แห้ง จากนั้นจึงทำการนวดฝักเพื่อเอาเมล็ดถั่วเขียวออกจากฝัก เมล็ดถั่วเขียวที่ได้จะถูกทำความสะอาด และนำไปจำหน่าย หรือนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เช่น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เป็นต้น

การปลูกถั่วเขียวในอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นตัวอย่างของการเกษตรแบบยั่งยืนที่มีการปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติในท้องถิ่น ทั้งการปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยว ล้วนแสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมา ช่วยสร้างรายได้ในครัวเรือน และความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การทำสวนเงาะของคนอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

พาไปดูการปลูกมันสำปะหลังที่วังโป่ง

ถั่วแระญี่ปุ่นที่วังโป่ง