มะขามหวานวังโป่งเพชรบูรณ์

           จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองมะขามหวาน” เป็นแหล่งปลูกมะขามหวานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและให้ผลผลิตดีมีคุณภาพจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพืชเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น (GI) ที่มีสภาพภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ธรรมชาติที่เหมาะสมกับการปลูกมะขามหวานที่มีคุณภาพดี หลากหลายสายพันธุ์ ฝักใหญ่ เนื้อเหนียวนุ่ม รสชาติหวานสนิท และที่อำเภอวังโป่งก็เป็นแหล่งปลูกมะขามหวานในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ให้ผลผลิตดี มีคุณภาพ จนได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดมะขามหวาน ประจำปี 2567 ทั้งสิ้น 2 รางวัล คือ พันธุ์สีทอง และพันธุ์ขันตี และยังมีมะขามหวานสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่อ.วังโป่งอีกด้วย เช่น พันธุ์เพชรซับเปิบ ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ปีซ้อนในปี 2561-2563 และรางวัลสุดยอดมะขามหวานในปี 2563 บีมทัวร์เกษตร “beemtourkaset” จะพาทุกคนไปดูวิถีการทำสวนมะขามหวานของเกษตรกรวังโป่งกันค่ะ

มะขามเป็นพืชไม้เขตร้อนที่ทนแล้ง สามารถขึ้นได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด เช่น ดิน ทราย ดินเหนียว ดินลูกรัง แต่สภาพพื้นดินที่เหมาะสมที่สุดก็คือ ดินร่วนปนทราย แต่พื้นที่ที่เหมาะสมแก่การปลูกควรมีฝนตกหรือ มีปริมาณน้ำฝนพอสมควรเพื่อให้ต้นมะขามมีการเจริญเติบโตที่ดี และได้ผลผลิตสูง สำหรับพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากในพื้นที่วังโป่ง ได้แก่ พันธุ์สีทอง พันธุ์ประกายทอง พันธุ์ประกายเพชร พันธุ์บุญเลิศ พันธุ์เพชรซับเปิบ เป็นต้น โดยการขยายพันธุ์มะขามหวาน สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง การต่อกิ่ง หรือการเปลี่ยนยอด เป็นต้น

เกษตรกรจะเริ่มปลูกมะขามต้นเล็กควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้ต้นมะขามได้รับน้ำฝนและสามารถตั้งตัวได้ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ก่อนจะทำการปลูกต้นมะขามจะต้องมีการเตรียมแปลงพื้นที่โดยการไถพรวนดิน เพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์

พื้นที่การปลูกมะขามหวานควรมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เพื่อใส่ปุ๋ยลงในหลุมปลูกได้เป็นจำนวนมาก การเตรียมหลุมปลูกควรมีขนาด กว้าง×ยาว×ลึก เท่ากับ 1×1×1 เมตร ดินที่ขุดจากหลุมจะแยกเป็น 2 กอง คือดินชั้นบน และดินชั้นล่าง เกษตรกรจะทำการตากดินที่ขุดขึ้นมาทิ้งไว้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะผสมดินทั้งสองกองด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักประมาณ 1 ปี๊บต่อหลุม และทำการกลบดินลงไปในหลุมตามเดิม โดยนำดินชั้นบนลงไปในหลุมก่อน แล้วจึงกลบด้วยดินชั้นล่าง

วิธีการปลูกมะขามหวาน เกษตรกรจะนำต้นพันธุ์มะขามหวานที่ได้จากการทาบกิ่ง มาปลูกตรงกลางหลุมที่เตรียมไว้ โดยให้รอยทาบกิ่งอยู่เหนือระดับดินปลูกเล็กน้อย กดดินให้แน่น และใช้ไม้หลักปักข้างๆ ต้น เเละใช้เชือกฟางผูกยึดให้ต้นมะขามหวานตั้งตรงไม่โค่นล้มในช่วงที่มีลมพัดแรง

การให้น้ำต้นมะขามในช่วงระยะปลูกใหม่ หากฝนยังไม่ตกจำเป็นจะต้องรดน้ำทุก 1-2 วัน ติดต่อก้นประมาณ 1 สัปดาห์ จนกว่าต้นมะขามจะตั้งตัวได้ จากนั้นจึงเว้นช่วงเวลาการรดน้ำให้ห่างจากเดิม โดยจะรดน้ำ 3 หรือ 7 วันต่อครั้ง เฉพาะในช่วงฤดูแล้งของปีแรก

การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากมะขามส่วนมากจะเริ่มสุก และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม หรืออาจจะขึ้นอยู่กับแหล่งปลูก และสภาพดินของแต่ละพื้นที่ปลูก วิธีการเก็บมะขามหวาน เกษตรกรจะใช้บันไดสำหรับขึ้นไปเก็บ และใช้กรรไกรสำหรับตัดฝักมะขามโดยเฉพาะ ลักษณะกรรไกรจะมีลักษณะเป็นเหล็กหนีบขั้วของฝักติดอยู่ด้วย เพื่อป้องกันฝักมะขามไม่ให้ร่วงหล่นแตกหัก หรือสามารถเก็บฝากใส่ย่าม ตะกร้าบุผ้า ไม่ให้ฝักแตกเสียหายได้ หลังจากเก็บฝักแล้วจะนำมาตัดขั้วออกให้สั้น และคัดขนาดแล้ววางผึงลมให้ซักแห้งสนิทประมาณ 2-3 วัน ก่อนนำไปจำหน่าย ถ้าเป็นมะขามหวานพันธุ์ดี ฝักคัดราคากิโลกรัมละประมาณ 150-200 บาท

หลังจากทำการเก็บเกี่ยวมะขามแล้ว เกษตรกรจะทำการดูแลบำรุงต้นมะขามเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีในปีถัดไป โดยจะทำการตัดแต่งกิ่งมะขามที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งที่เป็นโรคหรือมีแมลงทำลาย หรือกิ่งที่ไขว้ออกจากกัน แล้วใช้สีน้ำพลาสติก หรือสารป้องกันเชื้อราทาที่รอยแผลต้นมะขาม เพื่อป้องกันโรคราที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง สำหรับกิ่งที่ถูกตัดออกควรนำออกจากแปลงมะขามเพื่อไปทิ้ง หรือทำลายที่อื่น โดยเฉพาะกิ่งที่เป็นโรค หรือมีแมลงควรรีบนำไปทำลายโดยการนำไปเผาทิ้ง

มะขามถือเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์ และช่วงผลผลิตมะขามหวานออกฝักพร้อมเก็บมาขาย ยังได้มีการจัดกิจกรรมงานมะขามหวานในอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และสวนมะขามแต่ละสวนยังได้มีการนำมะขามจากสวนของตนไปขายหรือเข้าร่วมประกวดในงานมะขามอีกด้วย

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การทำสวนเงาะของคนอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

พาไปดูการปลูกมันสำปะหลังที่วังโป่ง

ถั่วแระญี่ปุ่นที่วังโป่ง