ทุเรียนวังโป่งเพชรบูรณ์

          ด้วยสภาพภูมิประเทศของอำเภอวังโป่งที่ใกล้ริมน้ำ สภาพดินมีลักษณะโป่ง ชาวบ้านจึงเรียกว่าบ้านวังดินโป่ง เหมาะสำหรับการทำการเกษตร ซึ่งนอกจากเกษตรกรอำเภอวังโป่งจะนิยมปลูก ข้าว ข้าโพด มันสำปะหลัง ถั่วแระญี่ปุ่น และพืชผักผลไม้ชนิดอื่นๆ แล้ว เกษตรกรยังนิยมปลูกทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ และได้ผลผลิตดี มีคุณภาพ ที่ดังไกลไปจนถึงพ่อค้าคนกลางจากจังหวัดจันทบุรีมาติดต่อขอรับซื้อผลผลิตทุเรียนยกสวนกันเลยทีเดียว ทำให้เจ้าของสวนทุเรียนมีรายได้จากการขายทุเรียนอย่างงดงาม ขณะเดียวกันชาวบ้านในวังโป่งก็ยังติดใจ ขอจองทุเรียนล่วงหน้าเลยทีเดียว

          บีมทัวร์เกษตร “beemtourkaset” จะพาไปดูวิธีการทำสวนทุเรียนของเกษตรกรวังโป่งกันค่ะ เจ้าของสวนบอกว่าการปลูกทุเรียนหลายคนคงเจอปัญหาไม่น้อย ปลูกอย่างไรให้รอด สิ่งสำคัญคือ จะต้องปลูกในพื้นที่ดินที่มีความเหมาะสม ดินต้องมีลักษณะเป็นดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวปนทรายจะทำให้ดินระบายน้ำได้ดี เพราะทุเรียนเป็นพืชที่มีความอ่อนแอต่อการถูกน้ำท่วมขัง เมื่อเจอน้ำท่วมขังจะทำให้ทุเรียนเกิดผลเน่าเสียได้

          ขั้นตอนการเตรียมดินก่อนการปลูก จะต้องไถพรวนดินและยกร่องให้กว้างประมาณ 6 เมตรขึ้นไป ขุดร่องน้ำกว้างประมาณ 1.5 เมตร และขุดให้ลึกประมาณ 1 เมตร เพื่อให้มีระบบระบายน้ำเข้าออก

          ขั้นตอนการเตรียมหลุมปลูก จะขุดดินให้มีหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร และจะนำต้นลงปลูกโดยให้รอยต่อระหว่างต้นพันธุ์กับต้นตอให้อยู่สูงกว่าระดับดิน ทำการกลบดินให้แน่น หากปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก ไม่ต้องขุดหลุมปลูก แต่จะเป็นการวางต้นพันธุ์ แล้วนำดินมากลบให้อยู่ในระดับเดียวกันกับพื้นดินของต้นพันธุ์ หลังจากนั้นพรวนดินและขุดดินเพื่อขยายโคนปีละ 1-3 ครั้ง จนกว่าดอกผลผลิตจะออก เมื่อผลผลิตออกจะทำการหยุดขยายโคนทันที

วิธีการให้น้ำต้นทุเรียนจะใช้ระบบการให้น้ำแบบหัวเหวี่ยงเล็ก โดยทุเรียนต้นเล็กที่เพิ่งปลูกใหม่จะต้องรดน้ำทุกวัน อย่างน้อยเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นในช่วงปีแรกอาจรดน้ำแบบวันเว้นวันหรือ 2-3 วันครั้ง ขึ้นอยู่กับความชื้นของพื้นดิน โดยจะรดน้ำครั้งละประมาณ 5 ลิตรต่อต้น และจะเพิ่มปริมาณในการรดน้ำมากขึ้นทุกๆ ปี

เมื่อทุเรียนเริ่มออกดอกควรเริ่มให้น้ำ 1 ใน 3 ของอัตราปกติที่เคยให้ และเมื่อเข้าระยะไข่ปลาให้พ่นด้วยปุ๋ย 13-0-46 ในอัตรา 100 – 200 ลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณการให้น้ำจนกระทั้งปริมาณเท่าปกติ โดยต้องระวังไม่ให้น้ำโดนดอกเพื่อป้องกันการเน่าหรือหลุดร่วงหรือดอกเปลี่ยนเป็นยอดอ่อนได้ ต่อมาในระยะติดผล ระยะนี้จะเริ่มมีการลดจำนวนผลที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ขนาดหรือคุณภาพ โดยให้เหลือไว้ประมาณ 60 ผลต่อต้น การให้น้ำอยู่ที่ประมาณ 80 – 110 ลิตรต่อต้น ในทุก 3 – 4 วัน บำรุงด้วยปุ๋ย 8-24-24 ในอัตรา 1 ใน 3 ของขนาดทรงพุ่ม และการเฝ้าระวังโรคเกี่ยวกับทุเรียนจะต้องหมั่นตรวจสอบลักษณะอาการของโรคในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หลังจากปลูกต้นทุเรียนจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี ถึงจะเริ่มมีผลทุเรียนออกดอก และสามารถเก็บเกี่ยวผลทุเรียนได้ต้องมีอายุผลหลังดอกบานอย่างน้อย 111 วัน

ขั้นตอนการเก็บทุเรียนจะเลือกเก็บผลที่มีความแก่เต็มที่แล้ว โดยจะสังเกตที่สีเปลือกของทุเรียน สีเปลือกมีสีน้ำตาลหรือหรือเขียวแกมเทา ก้านผลเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีน้ำตาลคล้ำ มีความผิวสาก ระหว่างรอยต่อกับผลจะมีลักษณะบวมใหญ่ ปลายหนามมีความแห้งและกางออก ร่องหนามมีความหนาและห่างกัน เมื่อเคาะเปลือกจะได้ยินเสียงหลวมๆ หากผลทุเรียนมีความแก่จะหลุดร่วงออกจากต้น เท่ากับว่า ทุเรียนต้นนั้นทั้งต้นมีผลแก่แล้วสามารถตัดเก็บผลทุเรียนได้ ในการตัดผลทุเรียนมีข้อห้ามไม่ให้ตัดผลแล้วนำมาวางกับพื้นโดยตรง เพราะอาจจะทำให้ผลทุเรียนเกิดการติดเชื้อ และจะทำให้ผลทุเรียนเกิดเน่าเสียได้ จึงควรนำกระสอบที่มีความสะอาดมารองก่อนวางผลทุเรียน จากนั้นจะทำการคัดแยกขนาดของทุเรียนและทำความสะอาดก่อนนำไปส่งขาย

ทุเรียนเป็นพืชที่ใช้ระยะเวลาในการออกผลผลิตเป็นเวลานาน ปีละครั้ง ตามช่วงฤดูกาลที่เราจะได้กิน บางสวน บางพื้นที่ที่มีสภาพดิน ฟ้า อากาศที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียนก็อาจจะมีทุเรียนออกมาให้กินนอกฤดูกาล แต่สำหรับทุเรียนที่อำเภอวังโป่งผลผลิตจะออกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ปีนี้ราคาทุเรียนวังโป่งแบบเจ้าของสวนขายเองกิโลกรัมละ 130 บาทค่ะ ใครสนใจลองติดตามกันนะคะ

 

ความคิดเห็น

  1. สุดยอดเลยยย ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ค่ะ

    ตอบลบ
  2. ยามเมื่อฝนโปรยลงมาาา

    ตอบลบ
  3. นึกถึงหนังเรื่องวิหมานหนามเลยค่ะ

    ตอบลบ
  4. พึ่งรู้ว่าปลูกได้ด้วยว้าวจริงๆ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การทำสวนเงาะของคนอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

พาไปดูการปลูกมันสำปะหลังที่วังโป่ง

ถั่วแระญี่ปุ่นที่วังโป่ง