พาไปดูการปลูกมันสำปะหลังที่วังโป่ง

บีมทัวร์เกษตร “beemtourkaset” ขอนำเสนอวิถีชีวิตของเกษตรกร อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทำการเกษตรทั้ง ปลูกพืช ผัก และผลไม้ รวมถึงพืชเศรษฐกิจต่างๆ ที่ชาววังโป่งประกอบเป็นอาชีพหล่อเลี้ยงชีวิตทุกคนในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น สืบต่อกันมา ตามวิถีชีวิตของชาววังโป่งที่เป็นแบบเรียบง่าย ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปฎิบัติตนตามแนวพระราชดำริของพระบาสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอยู่ร่วมกันแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่รักใคร่สามัคคีกัน มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจในการทำบุญ หรือประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา

สภาพภูมิประเทศของอำเภอวังโป่ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีประชากรประมาณ 35,000 คน ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน พืชที่ปลูก และผลไม้อื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะปลูกพืชล้มลุกมากกว่า สภาพภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ลุ่มสลับเนินเขาเล็กน้อย มีน้ำในลำคลอง ลำห้วย ไหลผ่าน ตลอดทั้งปี ชาวบ้านได้ใช้น้ำจากคลองวังโป่งซึ่งมีแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ แร่แบไรส์ ทำให้สภาพดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายเหมาะสำหรับการทำการเกษตรทั้งทำนา ทำสวน และทำไร่ได้อย่างหลากหลาย อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วแระญี่ปุ่น ฯลฯ วันนี้“beemtourkaset” จะพาทุกคนไปเรียนรู้วิธีปลูกมันสำปะหลังกันค่ะ

ด้วยสภาพและลักษณะของดินที่อำเภอวังโป่งส่วนมากจะเป็นดินร่วนปนทราย ร่วนซุย สีออกน้ำตาล จึงเหมาะสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง เกษตรกรจะเริ่มปลูกกันในช่วงเริ่มเข้าฤดูฝน ก่อนจะลงปลูกมันสำปะหลังจะต้องเริ่มจากการไถดินทิ้งไว้ก่อนสัก 2-3 เดือนหลังจากนั้นก็ไถพรวนยกร่องเป็นแนวตรงที่ไม่ห่างและไม่ชิดกันจนเกินไป แล้วค่อยนำต้นกล้ามันสำปะหลัง ปักลงดิน รอฝนตกลงมาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับต้นกล้า และเริ่มฉีดยาฆ่าหญ้าหลังจากปลูกได้ประมาณ 2-3 เดือน ในช่วงระยะหลังจากปลูกได้ 3-4 เดือน เกษตรกรจะเริ่มใส่ปุ๋ย โดยจะใส่ปุ๋ย 2 ข้างลำต้น ในขณะที่ดินมีความชื้น แล้วกลบด้วยปุ๋ยทุกครั้ง เพื่อบำรุงต้นมันสำปะหลังให้เจริญเติบโต 


สำหรับการเก็บเกี่ยวจะเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อมันสำปะหลัง มีอายุการปลูกประมาณ 8-12 เดือน หากต้องการให้ได้หัวมันสำปะหลังโตเต็มที่และน้ำหนักดี เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวช่วงที่การปลูกมันสำปะหลังครบ 10 เดือน โดยจะเริ่มจากการตัดต้นมันสำปะหลังให้สั้น ให้เหลือแค่ตอแล้วใช้รถขุดมันออกมาจากพื้นดิน และจะใช้แรงงานคนตัดหัวมันออกจากต้นอีกที จากนั้นก็นำหัวมันสำปะหลังส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อมันสำปะหลัง ส่วนต้นมันสำปะหลังที่ตัดออกจากหัวก็จะเก็บไว้ทำเป็นต้นกล้าพันธุ์เพื่อใช้ปลูกในฤดูกาลต่อไป

นี่คือการดำเนินชีวิตของชาวเกษตรกรไร่มันสำปะหลังวังโป่ง ที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัว และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน และขอฝากเรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตรของชาววังโป่งให้ทุกคนได้ติดตามด้วยนะคะ


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การทำสวนเงาะของคนอำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์

ถั่วแระญี่ปุ่นที่วังโป่ง